สภาพและข้อมูลพื้นฐาน
สภาพทั่วไปและข้อมูลพื้นฐาน
๑. ด้านกายภาพ
๑.๑ ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบล
องค์การบริหารส่วนตำบลแชะ เดิมพื้นที่การปกครองของอำเภอครบุรีขึ้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอกระโทก(อำเภอโชคชัยในปัจจุบัน) ได้รับการยกฐานะเป็นกิ่งอำเภอประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๐มีเขตการปกครองรวม ๓ตำบล คือ ตำบลแชะ ตำบลจระเข้หิน และตำบลสระตะเคียน มีชื่อเรียกว่า “กิ่งอำเภอแชะ” สำหรับคำว่า “แชะ” ความหมายในสำเนียงภาษาพื้นเมืองหมายถึง “แฉะ” ซึ่งคำพูดว่า”แฉะ” สำเนียงจะสูงฟังได้ว่า “แชะ” ส่วนที่ว่าการกิ่งอำเภอได้ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านแชะ การที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านแชะจากปากคำของผู้สูงอายุในหมู่บ้านมาจากสภาพของหมู่บ้านเป็นต่ำชั้น และมีโคลนตมทั่วไป การสัญจรลำบาก ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า “บ้านแชะ”
การตั้งถิ่นฐานของชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลแชะมีรูปแบบที่เกิดขึ้นมาจากอิทธิพลของสภาพภูมิประเทศ จึงทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนเมืองในบริเวณตอนกลางของชุมชน โดยมีลำแชะไหลผ่านทางทิศใต้ของชุมชน การตั้งถิ่นฐานของชุมชนในระยะแรกๆ จะเริ่มก่อตัวจากทิศตะวันตกของชุมชน ซึ่งมีทางหลวงจังหวัดหมายเลข ๒๐๗๑เป็นเส้นทางที่นำเข้าสู่ชุมชน ต่อมาเมื่อชุมชนมีการขยายตัวการตั้งถิ่นฐานของชุมชนจึงขยายตัวไปทางทิศตะวันออกและทางตอนบนของชุมชนเนื่องจากอิทธิพลของเส้นทางคมนาคม
จากลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชุมชน ตำบลแชะ ที่เกิดจากอิทธิพลของสภาพภูมิประเทศ ที่มีถนนสายหลักผ่านบริเวณชุมชน ทำให้ชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลแชะเป็นศูนย์กลางการบริการด้านการขนส่งสินค้า และคลังสินค้าต่าง ๆ นอกจากนี้พื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลแชะยังเป็นพื้นที่ที่มีการเกษตรมากเป็นอันดับต้นๆของพื้นที่อำเภอครบุรีทำให้พื้นที่ชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลแชะเป็นพื้นที่ผลิตผลิตผลทางการเกษตรให้กับอำเภอครบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง
๑.๒ ลักษณะภูมิประเทศ
องค์การบริหารส่วนตำบลแชะตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนบนของอำเภอครบุรีโดยมีลำแชะไหลผ่านทางทิศใต้ และมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียงดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลทุ่งอรุณ อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลบ้านใหม่ อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลเฉลียง และตำบลตะโกเอน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลอรพิมพ์ และตำบลจะเข้หิน อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา
ลักษณะภูมิประเทศของชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลแชะ เป็นพื้นที่ราบสูงเนินเขาเป็นส่วนใหญ่ และพื้นที่ราบสูงเนินเขาจะอยู่ทางตอนบนของพื้นที่ คือ บริเวณบ้าน พนาหนองหิน ม. ๗ บ้านขาคีม ม. ๖ บ้านหนองมะค่า ม. ๙ บ้านโนนมะขามป้อม ม. ๕ และพื้นที่ บ้านหนองรัง ม. ๒ บางส่วน ส่วนพื้นที่ทางตอนล่างเป็นพื้นทีราบลุ่ม ได้แก่ บ้านดอนกรูด ม. ๑ บ้านดอนสง่างาม ม. ๑๐ บ้านแชะ ม. ๓ – ม. ๔ มีแม่น้ำลำแชะไหลผ่านทางตอนใต้ของพื้นที่
๑.๓ ลักษณะภูมิอากาศ
ปริมาณน้ำฝนและการกระจายตัวของฝน
ข้อมูลจากสถานีวัดน้ำฝนของโครงการลำมูล เขื่อนลำมูลบน ๘ ปี (๒๕๓๗) มีค่าเฉลี่ยตลอดปี ๕๘๕.๔ มิลลิเมตร จากข้อมูลพอสรุปได้ว่า อำเภอครบุรี มีค่าเฉลี่ยของฝนตลอดปีประมาณ ๕๘๕.๔มิลลิเมตร โดยฝนจะเริ่มตกตั้งแต่เดือนเมษายน ถึงเดือนพฤษภาคม และฝนจะตกหนักอีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคม โดยเฉพาะในเดือน กันยายนและตุลาคม ฝนจะตกหนักมาก ฝนจะมีโอกาสตก ๙๐ วันต่อปี ในส่วนตอนบนของพื้นที่อำเภอ ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรและฝนจะมีโอกาสตก ๑๑๐ วันต่อปี ในส่วนตอนล่างของอำเภอ ซึ่งเป็นบริเวณป่าไม้และภูเขา
ทั้งนี้ จากการหาค่าความเชื่อมั่นที่ฝนจะตกหนัก ประมาณ ๑๕๐มิลลิเมตร ที่ป่าทึบและภูเขา มิลลิเมตร ที่ราบประมาณ ๑๐๑ มิลลิเมตร
1) ฤดูกาล แบ่งออกเป็น ๓ ฤดู
ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือน มิถุนายน – กันยายน
ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม – มกราคม
ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ – พฤษภาคม
ฤดูกาลเพาะปลูก เกษตรกรในเขตพื้นที่จะเริ่มปลูกพืชไร่ (มันสำปะหลัง) ตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี
ฤดูกาลทำนาปี เกษตรกรในเขตพื้นที่ จะเริ่มตกกล้าเดือนพฤษภาคม และปักดำกลางเดือนมิถุนายน เป็นต้นไป
หมายเหตุ ในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน ของทุกปีอุณหภูมิในเขตพื้นที่อำเภอครบุรีเฉลี่ย ๓๘ – ๔๐ องศา และจะมีฝนตกลงมากระจายไปทั้งพื้นที่
๑.๔ ลักษณะของดิน
จากลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบเนินเขาเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกิดการแตกต่างของพื้นที่ และลักษณะของดิน ซึ่งแบ่งได้เป็นชุดดินดังนี้
๑) ชุดดินราชบุรี มีลักษณะดินเหนียว การระบายน้ำเลว แต่ดินค่อนข้างอุดมสมบรูณ์ ดินกลุ่มนี้ มีความเหมาะสมดีในการปลูกข้าว ซึ่งดินชุดราชบุรีนี้ อยู่บริเวณพื้นที่บ้านแชะ ม.๓ – ม.๔ บ้านดอนกรูด ม. ๑ บ้านดอนสง่างาม ม.๑๐
๒) ดินชุดวัฒนา ดินนี้มีลักษณะเนื้อดินร่วนปนทราย การระบายน้ำไม่ดี และดินมีความอุดมสมบรูณ์ต่ำ มีความเหมาะสมในการปลูกข้าว ซึ่งดินชุดนี้อยู่บริเวณพื้นที่บ้านหนองรัง ม.๒ บ้านหนองมะค่า ม.๙ ต.แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
๓) ดินชุดร้อยเอ็ด ดินมีลักษณะเนื้อดินร่วนปนทราย การระบายน้ำไม่ดี และดินมีความอุดมสมบรูณ์ต่ำ มีความเหมาะสมในการปลูกข้าว ซึ่งดินชุดนี้อยู่บริเวณพื้นที่ บ้านดอนกรูด ม.๑ บ้านดอนสง่างาม ม.๑๐ ต.แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
๔) ดินชุดสตึก ดินมีลักษณะเนื้อละเอียดปานกลางระบายน้ำได้ดีมีความอุดม สมบรูณ์ ดินกลุ่มนี้มีความเหมาะสมปานกลางในการปลูกพืชไร่ ซึ่งดินชุดนี้อยู่บริเวณพื้นที่ บ้านแชะ ม.๓ – ม.๔ บ้านโนนมะขามป้อม ม.๕ บ้านขาคีม ม.๖ บ้านพนาหนองหิน ม.๗ บ้านถนนกลาง ม.๘ บ้านหนองมะค่า ม.๙ บ้านโนนทอง ม.๑๑ ต.แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
๕) ดินชุดวาริน ลักษณะเนื้อดินละเอียดปานกลาง ระบายน้ำได้ดีมีความ อุดมสมบรูณ์ ดินกลุ่มนี้เหมาะสมดีในการปลูกไม้ผลและไม้ยืนต้น และมีความเหมาะสมปานกลางในการปลูกพืชไร่ ซึ่งดินชุดนี้จะอยู่ในบริเวณพื้นที่ บ้านดอนกรูด ม.๑และบ้านดอนสง่างาม ม.๑๐ ต.แชะ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา